Blogger Tips and Tricks

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Psychology

                                       มนุษย์เปรียบเหมือนเครื่องจักรที่มีความซับซ้อน เพราะเราไม่ได้ทำได้แค่สิ่งเดียว เหมือนเครื่องซักผ้าที่ทำได้แค่ซักผ้า ถึงแม้เราจะเจอกับเรื่องเดิมๆ เราก็ไม่ได้ตอบสนองเหมือนเดิมทุกๆ ครั้ง เช่น เราไม่ได้หิวทุกครั้งที่เห็นอาหาร และในเรื่องเดียวกัน คนแต่ละคนก็มีความแตกต่าง ตัวอย่างเช่น ทั้งๆ ที่ดูละครเรื่องเดียวกันบางคนร้องไห้แต่บางคนไม่ และที่สำคัญมนุษย์มีอารมณ์ ความรู้สึก สติปัญญา และความคิดที่ใช้เหตุผล กลไกที่ซับซ้อนที่สุดนี้เรียกสั้นๆ ว่า "จิตใจ" และ "จิตวิทยา" เป็นศาสตร์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อพยายามเข้าใจถึงสิ่งนี้
แต่การจะอธิบายว่าคนเราคิดหรือทำเพราะอะไรคงไม่ใช่เรื่องง่าย "จิตใจ" ที่เราเชื่อกันว่าเป็นตัวกำหนดความคิดหรือการกระทำไม่ใช่กลไกที่มองเห็นด้วยตา ถ้าเราจะอธิบายกลไกของจิตใจ ก็คงเทียบได้กับเด็กอายุสิบปีอธิบายกลไกของเครื่องขายน้ำอัดลมหยอดเหรียญ ซึ่งเขามองเห็นเพียงว่าถ้าหยอดเหรียญแล้วน้ำอัดลมจะออกมา แต่การศึกษาจิตวิทยายากยิ่งกว่า เพราะตามที่กล่าวไว้แล้วว่า เราไม่ได้ทำอะไรซ้ำๆ เหมือนเครื่องขายน้ำ และแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป
ถ้าให้เด็กยี่สิบคนลองวาดภาพ "บ้าน–ต้นไม้–คน" ก็คงได้รูปแบบภาพออกมายี่สิบแบบ เช่นเดียวกับนักจิตวิทยาหลายคนที่พยายามทำความเข้าใจจิตใจของมนุษย์ และลงเอยออกมาได้คำตอบที่หลากหลาย ฉะนั้นทฤษฎีหรือแนวคิดทางจิตวิทยาจึงมีมากมาย และไม่อาจยึดอันใดอันหนึ่งว่าถูกต้องที่สุดได้
แม้นักจิตวิทยายุคเก่าบางท่านจะยังคงยึดแนวคิดทางจิตวิทยาแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้ว นักจิตวิทยาสมัยใหม่มักผสมผสานแนวคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน และมักจะไม่ถกเถียงกันอีกต่อไปว่าพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากกว่ากัน โดยยอมรับว่าปัจจัยทั้งสองต่างก็มีความสำคัญจึงไม่อาจแยกออกจากกันได้ ต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกันด้วย
คำนิยามสำหรับศาสตร์จิตวิทยา ณ ขณะนี้ คือ "จิตวิทยาหมายถึงการศึกษาจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์หรือสัตว์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์" โดยมีรากฐานจากแนวคิดเบื้องต้นทางจิตวิทยาที่สำคัญๆ หลากหลายแนวคิด เช่น แนวคิดของฟรอยด์, สกินเนอร์, มาสโลว์ ฯลฯ โดยทุกแนวคิดล้วนมาจากการสังเกต หรือการวิจัยอย่างเป็นระบบ และได้รับการยอมรับว่าเป็น "ศาสตร์" ที่สามารถใช้อธิบาย "จิตใจ" ที่ซับซ้อนของมนุษย์ได้
ในปัจจุบัน มีความต้องการหนังสือ งานเขียน และสื่อทางจิตวิทยาต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงแม้งานเขียนทางจิตวิทยาจะได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่งานเขียนบางชิ้นก็ยังขาดความเป็นวิชาการ อาจไม่มีแก่นสารหรือความน่าเชื่อถือมากนัก อย่างไรก็ตาม เราสามารถหาหนังสือจิตวิทยาดีๆ ได้ไม่ยากนักหากเลือกผู้เขียนที่มีความรู้ในศาสตร์นี้เป็นอย่างดี หรือพิจารณาหนังสือที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการหรือนักวิจารณ์
การเปิดสอนจิตวิทยาเป็นวิชาเอกและโทในระดับอุดมศึกษานั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศอังกฤษ จิตวิทยาเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากกฎหมาย ส่วนในสหรัฐอเมริกา จิตวิทยาเป็นรองก็เพียงแค่สาขาบริหารธุรกิจ เท่านั้น
ที่มา:https://www.facebook.com/pages/ตามหลักจิตวิทยาแล้ว/220036768134715

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น